พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 235
๑๐ . ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ มิคารมาตุ-
ปราสาท ในพระวิหารบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็น
วันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม
แล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง.
[๑๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง แล้วประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูล
ถามเหตุประการหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงประทานโอกาสที่จะพยากรณ์ปัญหาแก่ข้าพระองค์ พระผู้มี-
พระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะ
ของตน แล้วถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด ภิกษุนั้นรับพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มี-
พระภาค เจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก ่อุปาทาน-
ขันธ์คือรูป ๑ อุปาทานขันธ์คือเวทนา ๑ อุปาทานขันธ์คือสัญญา ๑
อุปาทานขันธ์คือสังขาร ๑ อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ๑ เหล่านี้ใช่ไหม
พระเจ้าข้า ?
พ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ คือ รูป,
เวทนา สัญญา , สังขาร , วิญญาณ เหล่านี้แหละภิกษุ.
ว่าด้วยมูลแห่งอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๔] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕
เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็น
มูลเหตุ ฯลฯ
ภิ. อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หรือว่า
อุปาทาน อื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ พระเจ้าข้า ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น
หามิได้ และอุปาทานขันธ์อื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ ฉันทราคะ
ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน.
ว่าด้วยฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๕] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกันหรือ พระผู้มี-
พระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ต่างกันภิกษุ ดังนี้แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ดูก่อน
ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่าในอนาคตกาล
ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมีเวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขาร
เช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้. ดูก่อนภิกษุ ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล.
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าขันธ์ ๕
[๑๘๖] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์?
ภ. ดูก่อนภิกษุรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี
ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใด
อย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่า
สังขารขันธ์ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี
ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์
ดูก่อนภิกษุ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์.
ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งขันธ์ ๕
[๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์, เวทนาขันธ์,
สัญญาขันธ์ , สังขารขันธ์ , วิญญาณขันธ์ , ปรากฏ ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้
รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะ
เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์
ปรากฏ.
ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ เป็นผู้ไม่ได้เห็น
พระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม
เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำ
ในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีรูป ย่อมเห็น
รูปในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในรูป ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา
ย่อมเห็นอัตตามีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในเวทนา
ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีสัญญา ย่อมเห็น
สัญญาในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในสัญญา ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็น
อัตตา ย่อมเห็นอัตตามีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาใน
สังขาร ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีวิญญาณ
ย่อมเห็นวิญญาณในอัตตา ย่อมเห็นอัตตาในวิญญาณ ดูก่อนภิกษุ
สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร?
ภ. ดูก่อนภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้วเป็นผู้ได้
เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดี
ในอริยธรรม เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำ
แล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา
ไม่เห็นอัตตามีรูป ไม่เห็นรูปในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในรูป ย่อม
ไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีเวทนา ไม่เห็นเวทนา
ในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในเวทนา ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความ
เป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในอัตตา หรือไม่เห็น
อัตตาในสัญญา ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตา
มีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในสังขาร ย่อม
ไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตามีวิญญาณ ไม่เห็น
วิญญาณในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในวิญญาณ ดูก่อนภิกษุ สักกายทิฏฐิ
ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกซึ่งอุปาทานขันธ์
[๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นคุณ เป็นโทษของรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร,
วิญญาณ เป็นการสลัดออกซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร
ซึ่งวิญญาณ?
ภ. ดูก่อนภิกษุ สุขโสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป
รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของรูป
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นการสลัดออก
ซึ่งรูป สุขโสมนัส อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ฯลฯ
อาศัยสังขารเกิดขึ้น อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของวิญญาณ
วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ
ของวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้
นี้เป็นการสลัดออกซึ่งวิญญาณ.
ว่าด้วยการไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
[๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มี
อหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และใน
สรรพนิมิตภายนอก?
ภ. ดูก่อนภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต
และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี
ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็น
รูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เวทนาอย่างใด
อย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี
ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี
ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่
อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มี
วิญญาณนี้และสรรพนิมิตภายนอก.
ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา
[๑๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตก
แห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล
รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่
อนัตตากระทำแล้ว จักให้ผลแก่อัตตาได้อย่างไร. ครั้งนั้นแล พระผู้มี-
พระภาคเจ้า ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว
ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่
โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูก
ตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้
ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล
รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่
อนัตตากระทำแล้ว จักให้ผลแก่อัตตาได้อย่างไร? นี้เป็นเหตุ (ฐานะ)
ที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอันเราได้แนะนำไว้แล้ว
ด้วยการทวนถามในธรรมนั้น ๆ ในบาลีประเทศนั้น ๆ จะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เรานั่นเป็น นั่นเป็นตัวตน
ของเรา.
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล.
จบ ปุณณมสูตรที่ ๑๐